Umberto I (1844–1900)

พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๘๖-๒๔๔๓)

 พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๒ ของราชอาณาจักรอิตาลี ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๘–๑๙๐๐ ประสูติ ณ ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Piedmont-Sardinia)* ในขณะที่อิตาลียังมิได้รวมชาติ พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ทรงได้รับการฝึกฝนให้เป็นทหารตามธรรมเนียมของราชวงศ์ซาวอย (Savoy)* และทรงเข้าประจำการในกองทัพปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียในสงครามประกาศอิสรภาพ (Wars of Independence) ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ และ ๑๘๖๖ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ ทรงดำเนินนโยบายตามรอยพระราชบิดาในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่อิตาลี โดยขยายอำนาจและอิทธิพลของอิตาลีเข้าไปในแอฟริกา และสามารถเข้าครองดินแดนบางส่วนได้ อย่างไรก็ดี แม้พระองค์จะเป็นที่ชื่นชมของชาวอิตาลีจากการดำเนินนโยบายการต่างประเทศดังกล่าว แต่การที่พระองค์สนับสนุนการปราบปรามพวกประท้วงในประเทศที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนใน ค.ศ. ๑๘๙๘ จนเกิดการสังหารหมู่ขึ้น ทำให้เกิดการลอบปลงพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๙๐๐

 พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ เป็นพระราชโอรสองค์โต ในบรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดา ๕ พระองค์ในพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ (Emmanuel II กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ค.ศ. ๑๘๔๙–๑๘๖๑, กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอิตาลี ค.ศ. ๑๘๖๑–๑๘๗๘)* และสมเด็จพระราชินีแอดิเลด (Adelaide) อดีตอาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (Archduchess of Austria) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ประสูติเมื่อวันที่๑๔มีนาคมค.ศ. ๑๘๔๔ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติปีที่ ๒๔ พรรษาของพระราชบิดาพอดี ณ กรุงตูริน (Turin) ในราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ขณะที่พระราชบิดายังคงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ทรงได้รับการถวายพระอักษรจากครูที่เป็นเลิศของอิตาลีในสมัยนั้น ได้แก่ มัสซีโม ตาปาเรลลี มาร์ควิสดาเซกลีโอ (Massimo Taparelli, Marquis d’Azeglio) และปัสกวาเล สตานิสลาโอ มันชีนี (Pasquale Stanislao Mancini)ขณะเดียวกัน ในฐานะสมาชิกของราชวงศ์ซาวอยพระองค์ยังทรงถูกปลูกฝังให้ใฝ่ใจกิจการทหารและได้รับการฝึกฝนวิชาทหารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และหน้าที่ในการนำราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย รวมทั้งดินแดนอิตาลีไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดังที่อิตาลีเคยเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจและอารยธรรมในสมัยจักรวรรดิโรมัน ทั้งเป็นดินแดนผู้นำในด้านเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรมในสมัยกลาง (Middle Ages) และในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) นอกจากนี้ยังได้รับการปลูกฝังแนวคิดในการรวมชาติอิตาลีหรือรีซอร์จีเมนโต (Risorgimento)* ที่เป็นกระแสความต้องการของชาวอิตาลีชาตินิยมในรัฐต่าง ๆ ในขณะนั้น

 ใน ค.ศ. ๑๘๔๙ เจ้าชายอุมแบร์โตทรงได้รับสถาปนาเป็นเจ้าชายแห่งปีดมอนต์ (Prince of Piedmont) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๕๘ ขณะมีพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ทรงได้รับแต่งตั้งให้มียศร้อยเอกในกองทัพปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย และเมื่อเกิดสงครามประกาศอิสรภาพครั้งที่ ๑ (First War of Independence) เพื่อขับไล่ออสเตรียออกจากคาบสมุทรอิตาลี ทรงเข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียและทรงมีประสบการณ์โดยตรงในยุทธการที่ซอลเฟรีโน (Battle of Solferino)* ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ สงครามประกาศอิสรภาพครั้งที่ ๑ มีผลให้รัฐบาลออสเตรียในทัสกานี (Tuscany) และมัสซา (Massa) รวมทั้งการ์รารา (Carrara) ปาร์มา (Parma) โมเดนา (Modena) และราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง (Kingdom of the Two Sicilies) ถูกพวกปฏิวัติอิตาลีโค่นล้ม ต่อมาดินแดนต่าง ๆ ดังกล่าวได้รวมตัวกับราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียและสถาปนาเป็น “ราชอาณาจักรอิตาลี” เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๖๑ ณ รัฐสภาตูริน โดยมีพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ พระราชบิดาได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของประเทศ นับเป็นความภาคภูมิพระทัยของเจ้าชายอุมแบร์โตอย่างมากและทำให้ทรงมีพระปณิธานตั้งแต่ทรงพระเยาว์ที่จะนำพาราชอาณาจักรอิตาลีที่พระองค์ทรงมีส่วนร่วมสร้างด้วยไปสู่ความยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต ต่อมา เมื่อเกิดสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War ค.ศ. ๑๘๖๖)* ระหว่างปรัสเซียกับออสเตรีย หรือสำหรับชาวอิตาลีคือสงครามประกาศอิสรภาพครั้งที่ ๒ (Second War of Independence) เจ้าชายอุมแบร์โตก็ทรงเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ ๑๖ (XVI Division) ในยุทธการที่วิลลาฟรังกา (Battle of Villafranca)หลังจากที่กองทัพอิตาลีพ่ายแพ้ที่เมืองคูสโตซา (Custoza)

 ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ เมื่ออิตาลีประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการรวมชาติอิตาลี พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ แห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียก็ได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรอิตาลี และเจ้าชายอุมแบร์โตก็ทรงเป็นมกุฎราชกุมารของราชอาณาจักรใหม่แห่งนี้ เมื่อทรงเจริญพระชันษาและถึงเวลาจะเสกสมรส ได้มีการเฟ้นหาเจ้าสาวให้แก่พระองค์ ซึ่งต่อไปจะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระราชินี อย่างไรก็ดี การที่ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียได้เป็น “หัวหอก” ในการรวมชาติอิตาลีและก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในรัฐต่าง ๆ จนทำให้ราชวงศ์เก่าแก่ต่าง ๆ ในอิตาลี รวมทั้งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ของทั้งสเปนและฝรั่งเศสที่มีความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติกับราชวงศ์ดังกล่าวในรัฐอิตาลีปฏิเสธที่จะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดด้วย จึงทำให้การเฟ้นหาเจ้าสาวที่เหมาะสมให้แก่พระองค์เป็นเรื่องยุ่งยาก รวมทั้งยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างราชวงศ์ซาวอยกับสถาบันสันตะปาปาอันเป็นผลจากการรวมชาติอิตาลี การหาเจ้าสาวที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกยิ่งกลายเป็นเรื่องยุ่งยากมากขึ้น อย่างไรก็ดี หลังจากไม่ประสบความสำเร็จรวมทั้งการสิ้นพระชนม์ของอาร์ชดัชเชสมาทิลเดอแห่งออสเตรีย (Archduchess Mathilde of Austria) “พระราชวงศ์” ห่าง ๆ ในราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ถูกกำหนดให้เป็นคู่เสกสมรส เจ้าชายอุมแบร์โตได้เข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์เกริตา เตเรซา โจวันนา (Margherita Teresa Giovanna) พระญาติสนิทที่เป็น “ลูกพี่ลูกน้อง” กันในราชวงศ์ซาวอยเมื่อวันที่๒๑เมษายนค.ศ. ๑๘๖๘ และทรงมีพระราชโอรสด้วยกัน ๑ พระองค์คือ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmanuel III ค.ศ. ๑๙๐๐–๑๙๔๖)*

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ เจ้าชายอุมแบร์โตได้สืบทอดราชสมบัติต่อจากพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒กษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรอิตาลี และทรงเลือกใช้พระนาม “พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑” แทน “พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๔” อันเป็นการนับพระนามต่อเนื่องจากพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๓ แห่งราชวงศ์ซาวอยทรงดำเนินนโยบายต่อจากพระราชบิดาในการสร้างชาติอิตาลีให้เป็นปึกแผ่น และไม่ทรงออมชอมกับสันตะปาปาในปัญหากรุงโรม (Roman Question)* ที่สันตะปาปาทรงประท้วงมาตั้งแต่ราชอาณาจักรอิตาลีได้เข้ายึดกรุงโรมในปกครองของสันตะปาปา ใน ค.ศ. ๑๘๗๐ และจัดตั้งเป็นเมืองหลวงของอิตาลีทั้งยังให้นำพระศพของพระราชบิดาไปบรรจุในวิหารแพนทีออน (Pantheon) ในกรุงโรม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีดั้งเดิมในการบรรจุพระศพของสมาชิกราชวงศ์ซาวอยที่สุสานหลวงแห่งซูเปร์กา (Superga) ในนครตูริน นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๘๘๖ พระองค์ยังมีพระราชโทรเลขถึงสันตะปาปาลีโอที่ ๑๓ (Leo XIII ค.ศ. ๑๘๗๘–๑๙๐๓) ประกาศให้กรุงโรมเป็นเมืองต้องห้าม (untouchable) สำหรับการอ้างสิทธิของสันตะปาปา รวมทั้งยืนยันให้กรุงโรมเป็นนครตลอดกาล (Eternal City) ในครอบครองของราชอาณาจักรอิตาลีอีกด้วย

 หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ พร้อมสมเด็จพระราชินีมาร์เกริตาได้เสด็จประพาสเยี่ยมเยียนเมืองต่าง ๆ ในอิตาลี โดยมี เบเนเดตโตไกโรลี (Benedetto Cairoli) นายกรัฐมนตรีตามเสด็จไปด้วย ระหว่างการเสด็จประพาสดังกล่าวพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ ทรงถูกโจวันนี ปัสซันนันเต (Giovanni Passannante) ผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตย (Anarchism)* พยายามลอบปลงพระชนม์ด้วยมีดชายธงเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๗๘ ขณะทอดพระเนตรขบวนพาเหรดในนครเนเปิลส์ แต่ทรงป้องกันตัวเองได้ด้วยกระบี่ที่ทรงถือติดพระองค์ ส่วนไกโรลีซึ่งพยายามปกป้องพระองค์ได้ถูกมีดแทงที่บริเวณขาได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตกพระทัยให้แก่สมเด็จพระราชินีมาร์เกริตาเป็นอันมาก และทำให้พระองค์ทรงหวาดผวากับเหตุการณ์นี้จนทำให้พระสุขภาพเสื่อมโทรมเป็นเวลาหลายปีปัสซันนันเตถูกตัดสินประหารชีวิตทั้งที่กฎหมายกำหนดโทษประหารชีวิตในกรณีที่กษัตริย์ถูกปลงพระชนม์เท่านั้น อย่างไรก็ดี พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ ทรงลดโทษประหารชีวิตให้แก่ปัสซันนันเตเป็นจำคุกตลอดชีวิตเขาถูกขังเดี่ยวในห้องขังแคบ ๆ ที่มีความสูงเพียง ๑.๔๐ เมตร เท่านั้น ทั้งไม่มีระบบสุขอนามัย นักโทษถูกล่ามโซ่ที่มีน้ำหนักรวมกัน ๑๘ กิโลกรัม จนได้รับความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง ในที่สุดก็เสียสติและเสียชีวิตในสถาบันโรคจิตในเวลาต่อมา

 ในการดำเนินนโยบายปกครองภายใน พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ ทรงปฏิบัติตนเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญทั้งทรงมุ่งพัฒนาปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างตอนเหนือกับตอนใต้ อย่างไรก็ตาม อิตาลีก็ต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางสังคมเป็นระยะ ๆ การขยายตัวของลัทธิสังคมนิยม การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการประท้วงต่าง ๆ ซึ่งในกลุ่มผู้ประท้วงก็มีเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* สมาชิกของพรรคสังคมนิยมรวมอยู่ด้วย ส่วนในด้านการต่างประเทศนั้นอิตาลีพยายามเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในยุโรปทั้งยังยึดถือลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)* เช่นเดียวกับมหาอำนาจอื่น ๆ ของยุโรป มีการขยายอำนาจเข้าไปในแอฟริกา แต่การแสวงหาอาณานิคมดังกล่าวทำให้อิตาลีต้องขัดแย้งกับฝรั่งเศสเพราะถูกฝรั่งเศสกีดกันไม่ให้ครอบครองตูนิเซีย (Tunisia) จนต้องหันไปดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและร่วมลงนามในสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance)* กับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีใน ค.ศ. ๑๘๐๒ อันเป็นการแบ่งค่ายที่สำคัญของมหาอำนาจยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* และพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ ก็เสด็จประพาสกรุงเวียนนาและกรุงเบอร์ลิน เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีต่อกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับออสเตรีย-ฮังการีที่ต้องสูญเสียดินแดนของตนในอิตาลีในสมัยการรวมชาติอิตาลีอีกด้วย

 ในการขยายอำนาจและอิทธิพลของอิตาลีเข้าไปในแอฟริกานั้น พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ ทรงให้การสนับสนุนฟรันเซสโก กริสปี (Francesco Crispi)* นายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๗–๑๘๙๑ และ ค.ศ. ๑๘๙๓–๑๘๙๖ ในการสร้างอาณานิคมขนาดใหญ่ในแอฟริกา ทั้งกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน นายธนาคารนักอุตสาหกรรม ตลอดจนองค์กรคริสต์ศาสนาที่สนับสนุนการเผยแผ่พระศาสนาและชาวไร่ชาวนาที่ยากจนที่ต้องการได้รับที่ดินว่างเปล่าเพื่อทำการเพาะปลูกก็สนับสนุนนโยบายนี้ด้วย และนับว่าพระองค์ทรงประสบความสำเร็จและได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นอันมาก กอปรกับสถานการณ์บ้านเมืองแม้จะมีความวุ่นวายอยู่บ้างแต่โดยทั่วไปก็นับว่าสงบกว่าระยะเวลาที่ผ่านมา จึงทำให้พระองค์ได้รับสมญาว่า “กษัตริย์ผู้แสนดี” (Buono; the Good) ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ อิตาลีสามารถสถาปนาอำนาจอารักขาในดินแดนโซมาลี (Somali) ทางตอนใต้ของโซมาลีแลนด์ของอังกฤษทั้งยังได้เข้ายึดครองแคว้นเอริเทรีย (Eritrea) บนฝั่งตะวันออกของแอฟริกา อย่างไรก็ดี การก่อสงครามอะบิสซิเนีย (Abyssinian Wars)* ครั้งแรกกับอะบิสซิเนีย [หลัง ค.ศ. ๑๙๕๓ เปลี่ยนชื่อเป็น เอธิโอเปีย (Ethiopia)] กลับพ่ายแพ้อย่างยับเยินใน ค.ศ. ๑๘๙๕สร้างความอัปยศและเสียชื่อเสียงให้แก่อิตาลีเป็นอันมาก อันมีผลกระทบต่อการชื่นชมในพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ ของชาวอิตาลีให้ลดลงด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ชาวอิตาลีที่ไม่พอใจนโยบายการแผ่อำนาจและอิทธิพลของอิตาลีในแอฟริกาที่ยังดำเนินอยู่ซึ่งสร้างความหายนะให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและราคาขนมปังที่เป็นอาหารหลักประจำวันถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก จึงก่อการประท้วงโดยทั่วไปในนครมิลานนายพลฟีโอเรนโซ บาวา-เบเอการิส (Fiorenzo Bava-Beecaris) ได้สั่งให้ทหารใช้ปืนใหญ่โจมตีผู้ก่อการประท้วงในวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๘ ทำให้ผู้ประท้วงกว่า ๑๐๐ คนเสียชีวิต (บางข้อมูลกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตถึง ๓๕๐ คน) และอีกจำนวนนับพันได้รับบาดเจ็บ นับเป็นโศกนาฏกรรมอย่างยิ่ง เหตุการณ์นี้ต่อมาเรียกว่า “การสังหารหมู่บาวา-เบเอการิส (Bava-Beecaris Massacre) อย่างไรก็ดี แทนที่พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ “กษัตริย์ผู้แสนดี” จะให้ความเห็นพระทัยประชาชนกลับทรงส่งโทรเลขไปแสดงความยินดีกับนายพลบาวา-เบเอการิสในการปราบจลาจล และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Great Official of Savoy Military Order เพื่อเชิดชูเกียรติเขาในการปฏิบัติการครั้งนี้ นับเป็นการสวนกระแสความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง และสร้างความโกรธแค้นให้แก่ประชาชนที่ประสบกับปัญหาความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันมาก

 ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ ทรงถูกกาเอตาโน เบรสชี (Gaetano Bresci) ผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตย ชาวอิตาลีอเมริกันซึ่งเดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา ลอบปลงพระชนม์ที่เมืองมอนซา (Monza) โดยการสาดกระสุนใส่พระองค์ ๔ นัดเขาเดินทางมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยอ้างว่าเป็นการแก้แค้นต่อเหตุการณ์สังหารหมู่บาวา-เบเอการิสที่ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกสังหารอย่างทารุณ พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ เสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมายุ ๕๖ พรรษา.



คำตั้ง
Umberto I
คำเทียบ
พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑
คำสำคัญ
- กริสปี, ฟรันเซสโก
- กษัตริย์ผู้แสนดี
- การรวมชาติอิตาลี
- ปัญหากรุงโรม
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่ซอลเฟรีโน
- ยุทธการที่วิลลาฟรังกา
- รีซอร์จีเมนโต
- ลัทธิจักรวรรดินิยม
- ลัทธิอนาธิปไตย
- สงครามเจ็ดสัปดาห์
- สงครามประกาศอิสรภาพ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามอะบิสซิเนีย
- สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
- ออสเตรีย-ฮังการี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1844–1900
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๘๖-๒๔๔๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-